Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดภูเก็ต

วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต จับมือ แรงงานจังหวัดภูเก็ต เร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล จังหวัดภูเก็ต

pll_content_description

 

 

 

  เมื่อวันที่  ๔ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๖  เวลา ๑๐.๐๐น.  ที่ศาลาเอนกประสงค์ ชุมชนบ้านแหลมหลา  ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง   จังหวัดภูเก็ต    นายทวิชาติ อินทรฤทธิ์ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต และนายสุทธิพงศ์ สายสาคเรศ   แรงงานจังหวัดภูเก็ต  ได้ร่วมกันเปิดการอบรมโครงการพัฒนาทักษะฝีมือชาวไทยใหม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ หลักสูตรเพ้นท์ผ้าปาเต๊ะ และปักเหลื่อม  ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖

                                      

 

 

  นายทวิชาติ อินทรฤทธิ์ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่  ๒ มิถุนายน ๒๕๕๖ เห็นชอบแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาการฟื้นฟูวิถีชาวเลจังหวัดภูเก็ต ตามประเด็นต่างๆ ได้แก่ การสร้างความมั่นคงด้านที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การสร้างความมั่นคงในอาชีพ เป็นต้น  ชาวเล หรือชาวไทยใหม่ หรือชาวมอแกน หรือชาวอูรักลาโว้ย ส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมงในท้องทะเลอันดามัน โดยผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวออกทะเลหาปลา ฝ่ายผู้หญิงก็อยู่บ้านเลี้ยงลูกและหากิจกรรมอื่นๆ ทำ เช่น สานเสื่อใบเตย ตับใบมะพร้าว ตับใบจากสำหรับมุงหลังคา เป็นต้น ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันชาวเลจะมีรายได้ไม่เพียงพอกับการเลี้ยงชีพ ประกอบกับแหล่งที่พักอาศัยของชาวเลเป็นแหล่งท่องเที่ยว หากได้รับการส่งเสริมให้กลุ่มสตรีชาวเลหรือผู้สนใจชาวเล มีอาชีพด้านการขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว จะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลภูเก็ต ได้ทางหนึ่ง จึงได้ของบประมาณจากสำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ตมาดำเนินการโดยในระยะแรกจะฝึกอบรม ๒ รุ่น  รุ่นแรก วันที่ ๔ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ที่ชุมชนบ้านแหลมหลา ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต รุ่นที่สอง วันที่ ๑๑ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ที่ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต รุ่นละ ๑๖ คน

   

  นายสุทธิพงศ์ สายสาคเรศ แรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวเสริมว่าชาวเล หรือชาวไทยใหม่  ที่เข้ารับการอบรมทั้ง ๒ รุ่น มีความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพมีรายได้ไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย โดยวัฒนธรรมจังหวัด เป็นผู้ดูแลเรื่องวิธีชีวิตชาวไทยใหม่ ส่วนแรงงานจังหวัด รับผิดชอบในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ แรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการพัฒนาทักษะฝีมือชาวไทยใหม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ หลักสูตรเพ้นท์ผ้าปาเต๊ะ และปักเหลื่อม เป็นโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบปัญหาด้านอาชีพ  ของกระทรวงแรงงาน หนึ่งในจำนวน ๑๖ โครงการที่คณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติกระทรวงแรงงาน จังหวัดภูเก็ต ได้พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ ลักษณะโครงการเป็นการฝึกอาชีพแบบให้เปล่า โดยทางกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้รับผิดชอบในค่าวิทยากร วัสดุการฝึก รวมทั้งช่วยเหลือค่าอาหารแก่ผู้เข้ารับการอบรม วันละ ๑๒๐ บาทด้วย

TOP